วันนี้ admin จะมาชวนคุยว่าฝุ่นจิ๋วที่เราเรียก PM2.5 นั้นคืออะไร
PM ย่อมาจาก Particulate Matter ส่วน 2.5 มาจาก ขนาดของฝุ่นที่เล็กกว่า 2.5 ไมครอน (หรือไมโครเมตร) โดยปรกติเมื่อเราพูดถึงฝุ่นเราอาจจะนึกถึงขนาดเล็กหลายคนคงนึกไปถึงฝุ่นที่เป็นของแข็ง แต่จริงๆ แล้วฝุ่นขนาดเล็ก หรือ Particulate Matter ที่เราพูดถึง มันอาจจะเป็น ของแข็ง หรือของเหลว เป็น องค์ประกอบรวมของสารหลายชนิด ที่เป็นทั้งสาร อินทรีย์ (organic) และ อนินทรีย์ (inorganic)

จากภาพ ทางด้านซ้ายที่เป็นพื้นหลังสีโทนส้มจะเป็นส่วนที่เป็น PM2.5 จะเห็นได้ว่าฝุ่นที่บอกว่าเป็น PM2.5 ก็อาจจะมีหลายขนาด ไม่ใช่ขนาดแค่ 2.5 ไมครอนเท่านั้น แต่รวมถึงฝุ่นที่เล็กกว่านั้นด้วย ซึ่งฝุ่นเหล่านี้ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นทรงกลม อาจเป็นรูปร่าง รูปทรงต่างๆ กันได้ และด้วยขนาดที่เล็กมาก ทำให้ฝุ่นเหล่านี้สามารถแขวนลอย กระจายตัวอยู่ในอากาศได้นาน ไม่ตกลงมาง่ายๆ หรือกำจัดง่ายๆ เหมือนกับฝุ่นที่ขนาดใหญ่กว่า

แม้เราจะพูดถึงฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน แต่จากงานวิจัยต่างๆ ก็พบว่าองค์ประกอบส่วนใหญ่ของ PM2.5 มักเป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 1 ไมครอน (PM1) ถึงแม้อนุภาคจิ๋วเหล่านี้จะคิดเป็นสัดส่วนน้ำหนักน้อย แต่หากนับเป็นจำนวนอนุภาคก็อาจมากถึง 90% ของจำนวนอนุภาคทั้งหมด ความเล็กและจำนวนที่มากมายเหล่านี้ เป็นเหตุผลที่เจ้าฝุ่นจิ๋วเหล่านี้สามารถผ่านระบบการคัดกรองของร่างกายเข้าไปได้ลึกกว่า และด้วยขนาดที่เล็กทำให้มีความสามารถในการเกาะติด (deposition) ได้มากเพราะมีพื้นที่ผิวมากนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าฝุ่นขนาดใหญ่กว่าอย่าง PM10 ไม่อันตราย

ฝุ่นขนาดเล็กๆ เหล่านี้ เกิดจากอะไรได้บ้าง

เนื่องจากฝุ่นเล็กมากๆ เหล่านี้เป็นได้ทั้งของแข็งและของเหลว จึงสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายอย่าง เช่น การเผาไหม้, การควบแน่นของสารอินทรีย์ และไอของโลหะ รวมถึงสามารถเกิดจากมลพิษในขั้นแรกที่มีการเกิดปฏิกิริยาต่อเนื่องในอากาศ เช่นมีการเปลี่ยนรูปจากก๊าซด้วยปฏิกิริยาที่มีแสงอาทิตย์เป็นตัวเร่ง

ดังนั้นแหล่งกำเนิดหลักภายนอกที่พบเป็นหลักสำหรับการเกิด PM2.5 มักเป็นการเผาไหม้ในพาหนะต่างๆ การเผาไหม้ทุกชนิดในโรงงานอุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง (เช่นการเผาขยะ เผาหญ้า หรือเผาเศษวัสดุทางการเกษตร) ปฏิกิริยาเคมีบางอย่าง ตามที่ได้ยินได้ฟังจากข่าว

แต่ยังมีกิจกรรมใกล้ตัวที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 ที่เราอาจคาดไม่ถึง เช่น การสูบบุหรี่ การจุดธูป การทำอาหาร ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น
วันนี้ admin เอาข้อมูลที่น่าสนใจ จากงานวิจัยต่างๆ ที่พูดถึงการเกิดฝุ่นจากกิจกรรมใกล้ๆ ตัว มาเล่าให้ฟังกัน

- การจุดธูปอาจทำให้เกิดฝุ่นขนาดเล็กอย่าง PM2.5 ได้มากถึง 45 มิลลิกรัม ต่อการจุดธูปน้ำหนัก 1 กรัม [1]
- การทำอาหารแต่ละชนิดและหลากหลายวิธีให้ค่าฝุ่นมากเช่นกัน มีหลายงานวิจัยทดสอบปริมาณฝุ่นที่เกิดจากการประกอบอาหาร ซึ่งมีทั้งการเปรียบเทียบ วิธีการประกอบอาหาร ชนิดและประเภทของอาหารที่ทำ ให้ผลต่างๆ ที่น่าสนใจ [2], [3]
- วิธีการปรุงอาหารแบบ ปิ้งย่าง และทอด ให้ค่าฝุ่นมากที่สุดในการประกอบอาหาร (จากการศึกษา ทั้งการต้ม อบ นึ่ง ทอด ย่าง อบในเตา อบในเตาไมโครเวฟ เป็นต้น)
- วิธีการปรุงอาหารที่เป็นแบบใช้น้ำมันมีค่าฝุ่นมากกว่าที่เป็นการใช้น้ำในการประกอบอาหาร เช่นการทอด การผัด ให้ฝุ่นมากกว่าการต้มการนึ่ง
- อาหารประเภทเนื้อให้ค่าฝุ่นมากกว่าประเภทปลา และมากกว่าประเภทผัก
- การประกอบอาหารด้วยการใช้เตาไฟ (ที่มีการเผาไหม้) ทำให้เกิดฝุ่นมากกว่าเตาไฟฟ้า
- เมื่อเปรียบเทียบน้ำมันที่ใช้ (ด้วยความร้อน) พบว่าน้ำมันมะกอก ให้ค่าฝุ่นสูงที่สุด รองลงมาเป็นประเภทน้ำมันมะพร้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน เป็นต้น
- จากการทดลองวัดค่าความเข้มข้นฝุ่นจากการประกอบอาหารภายในบ้าน พบว่าอาจทำให้ค่าฝุ่น PM2.5 ภายในบ้านสามารถสูงขึ้นไปถึง 160 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร


หากสนใจอยากอ่านข้อมูลเพิ่มเติม ติดตามไปอ่านบทความตีพิมพ์ด้านล่างได้นะคะ

[1] Ta-Chang Lin, Guha Krishnaswamy, and David S. Chi, “Incense smoke: clinical, structural and molecular effects on airway disease”, Clinical and Molecular Allergy, 2008; 6: 3.

[2] Mehdi Amouei Torkmahalleh, Sodabeh Gorjinezhad, Hediye Sumru Unluevcek, Philip K. Hopke, “Review of factors impacting emission/ concentration of cooking generated particulate matter”, Science of the Total Environment, 2017, 586: 1046-1056.

[3] Man-Pun Wan, Chi-Li Wu, Gin-Nam Sze To, Tsz-Chun Chan, Christopher Y.H. Chao, “Ultrafine particles, and PM2.5 generated from cooking in homes”, Atmospheric Environment, 45 (2011), 6141-6148