มารู้จัก AQI : Air Quality Index กัน (ยาวหน่อย แต่อยากให้อ่านกันนะ)
- ช่วงที่ผ่านมา หลายๆ คนน่าจะได้ยินคำว่า AQI กันจนคุ้นเคย คิดว่าหากเราเข้าใจ AQI มากขึ้น อาจจะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย
- AQI เกิดขึ้นมา สำหรับใช้ในการสื่อสารถึงความเสี่ยงของคุณภาพอากาศในที่ที่เราอยู่ ซึ่งจะมีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของมลพิษทางอากาศที่แตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ
- มาถึงตรงนี้เริ่มจะเห็นแล้วว่าจริงๆ AQI มีความซับซ้อนไม่เบา เพราะว่า AQI จะมีการรายงานจาก มลพิษทางอากาศหลายตัว และ AQI แต่ละประเทศยังมีการกำหนดมาตรฐานที่แตกต่างกันอีกด้วย
- ขออธิบายถึง AQI ของประเทศไทยก่อน
ตามประกาศของกรมควบคุมมลพิษ ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อเดือน พ.ย.2561 โดยกำหนดให้ AQI คิดจากมลพิษทั้งหมด 6 ตัวได้แก่ PM2.5, PM10, SO2 (ซัลเฟอร์ไดออกไซด์), NO2 (ไนโตรเจนไดออกไซด์), CO (คาร์บอนมอนอกไซด์), และ O3 (โอโซน) (ใช่แล้วโอโซนเป็นมลพิษ โอโซนที่มีประโยชน์จะต้องอยู่ในชั้นบรรยากาศ Startosphere ที่อยู่สูงขึ้นไปเกินกว่า 10 km ซึ่งช่วยกันรังสี UV บางประเภทเข้ามาในโลก แต่โอโซนที่อยู่ในชั้นบรรยากาศที่เราอยู่ ถือเป็นมลพิษ)
- โดย AQI จะสามารถคำนวณจากค่ามาตรฐานของแต่ละมลพิษ เป็นระดับต่างๆ ว่าความเข้มข้นของมลพิษแต่ละชนิดจะถูกกำหนดเป็นช่วง ว่าระดับความเข้มข้นเท่าไหร่มีผลอย่างไร โดยแต่ละช่วงจะถูกกำหนดและให้รหัสเป็นสี เริ่มด้วย ฟ้า เขียว เหลือง ส้ม แดง (โดยประเทศอื่นๆ อาจมีสีแตกต่างกัน เช่น เริ่มที่เขียว เหลือง ส้ม แดง ม่วง เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่ค่าของทุกประเทศ จะกำหนดให้ ค่าที่เริ่มมีผลกับสุขภาพ เป็นค่า AQI ที่มากกว่า 100)
- มลพิษแต่ละตัวถูกกำหนด ค่าความเข้มข้นในแต่ละระดับแตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีการกำหนดค่าความเข้มข้นที่วัดได้เป็นค่าเฉลี่ยต่อช่วงเวลาที่กำหนดอีกด้วย (ไม่ใช่ค่าที่รายงานจากการวัดได้ ณ ขณะใดขณะหนึ่ง) เช่น PM2.5 และ PM10 จะคิดจากค่าเฉลี่ยต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง (O3 และ CO ใช้ค่าเฉลี่ยต่อเนื่อง 8 ชั่วโมง ส่วน NO2 และ SO2 ใช้ค่าเฉลี่ยรายชั่วโมง)
- สำหรับรายละเอียดการคำนวณ หากใครเคยดูสมการอ้างอิงอาจจะดู งง นิดหน่อย แต่จริงๆ หากพูดตามภาษาคณิตศาสตร์มันคือการทำ interpolate (การประมาณค่าในช่วง) นั่นเอง
- คราวนี้พอมีมลพิษหลายตัว ค่า AQI จะทำการเลือกค่าที่เป็นค่า AQI ที่สูงที่สุดจากมลพิษทุกประเภทที่ทำการวัด มารายงานเป็นค่า AQI ซึ่งนั่นหมายถึงว่า จริงๆ แล้วค่า AQI ที่เห็นอาจเป็นค่ามลพิษตัวใดตัวหนึ่ง (แต่บังเอิญส่วนใหญ่ตัวที่มีปัญหาเกินค่ามากบ่อยๆ คือ PM2.5)
- จากที่กล่าวมาจึงมีบางปัจจัยที่เป็นจุดอ่อนของค่า AQI เช่น ค่าที่รายงานเป็นค่าเฉลี่ยในช่วงเวลา แต่ค่า ณ ขณะใดขณะหนึ่งอาจจะมีอันตรายมากกว่านั้น (เป็นช่วงๆ) ได้ หรือการที่ AQI รายงานค่าที่สูงที่สุดของมลพิษชนิดใดชนิดหนึ่ง อาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ นอกจากนี้หากพิจารณาปัจจัยกระทบกับสุขภาพที่แท้จริง อาจจะสูงกว่านั้น หากมลพิษแต่ละตัวสูงใกล้เคียงกันหมด แต่รายงานเพียงตัวที่สูงที่สุดเพียงตัวเดียว ดังนั้นหากเราเข้าใจหลักการของ AQI ทางที่ดีเราควรดูค่าของแต่ละมลพิษด้วยประกอบกันสำหรับการรายงาน อย่าดูเพียงค่า AQI เพียงอย่างเดียว
- สำหรับค่า AQI ของ PM2.5 ของประเทศไทย กำหนดค่าที่เริ่มมีผลกับสุขภาพ (AQI PM2.5 มากกว่า 100) ที่ความเข้มข้น 50 microgram/cu.m. ค่านี้อาจแตกต่างกับประเทศอื่นๆ เช่น อเมริกา อาจคิดค่าที่เริ่มมีผลกับสุขภาพของ PM2.5 ที่ 35.4 microgram/cu.m จีนเริ่มคิดค่าที่มีผลต่อสุขภาพที่ 75 microgram/cu.m. ค่าที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลกอาจกำหนดไว้ต่ำที่ 25 microgram/cu.m. แต่ก็ยังมีการกำหนดเป็นระดับสำหรับ developing cities ไว้ด้วยเช่นกัน (ซึ่งอาจเป็นค่าที่สูงกว่า 25)
- ดังนั้น หลายๆ คนที่ตรวจสอบค่า AQI จาก app Air Visual จะพบว่าค่าของ AQI ไม่ตรงกับเว็บหรือ app ของกรมควบคุมมลพิษ ก็เนื่องมาจากการกำหนดมาตรฐานแตกต่างกันนั่นเอง (app Air Visual มีให้เลือกเป็น AQI ของ US และ จีน)
- เล่ามายาวมาก หวังว่าจะช่วยให้อ่านค่าได้เข้าใจและเป็นประโยชน์มากขึ้น ทางที่ดีแนะนำให้ดูค่าความเข้มข้นเป็นหลัก และป้องกันตัวเองเอาไว้นะคะ ด้วยรักและห่วงใยในสุขภาพคุณ